วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

S.T.R.O.N.G.E.R. Model (C) การเตรียมพร้อมของครูมือใหม่สู่การเป็นครูที่ดีในศตวรรษที่ 21 โดย ครูโอ๊ต ชานุกฤต


จากการที่ครูโอ๊ตได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสแวะเยี่ยมชมและสอนนักเรียนโรงเรียนมัธยมกว่า 100 โรงเรียนตลอดระยะเวลากว่า 2-3 ปีมานี้ ครูโอ๊ตพบว่าคุณครูที่บรรจุใหม่ต่างมีไฟและศรัทธาที่แรงกล้าในการสอนลูกศิษย์ของตนเองให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ในศตวรรษที่ 21 นี้ รูปแบบการศึกษากำลังจะค่อยๆเปลี่ยนไปจากกระดานดำ เป็นไว้ทบอร์ด และตอนนี้เข้าสู่ยุคของ สกรีนหน้าจอคอมพิวเตอร์ การสอนของคุณครูในอนาคตจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ครูโอ๊ตจึงขอนำเสนอโมเดล S.T.R.O.N.G.E.R  Model” © เพื่อการเตรียมพร้อมของคุณครูมือใหม่ให้เป็นครูที่ดีในอนาคต  

S: Special Educationครูในอนาคตต้องมีทักษะการสอนและให้ความรู้เด็กพิเศษรวมทั้งเด็กปัญญาเลิศ หรือ เด็ก Gifted เนื่องจาก เด็กพิเศษต้องการการเอาใจใส่ดูแลของครูเป็นอย่างดี เพราะเด็กพิเศษมีการเรียนรู้ที่แตกต่างจากนักเรียนธรรมดา ดังนั้น ครูจึงต้อง
มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเด็กพิเศษแบบต่างๆที่ครูอาจต้องเจอในชั้นเรียนที่เรียนร่วมกับเด็กปกติ เพื่อทำให้เด็กพิเศษสามารถอยู่ร่วมกับนักเรียนปกติได้อย่างมีความสุข 

T: Technology Savvyการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสอนในชั้นเรียนกำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะความรู้บนโลกออนไลน์ทำให้ผู้เรียนหาสิ่งที่เขาต้องการได้รวดเร็ว ดังนั้นครูในอนาคตจำเป็นต้องชี้นำและชี้แนะการหาความรู้ได้อย่างถูกวิธี  เรียนรู้ในการให้ผู้เรียนหาแหล่งค้นคว้าที่เชื่อถือได้ สอนวิธีการกรองข่าวสารที่ถูกต้อง อีกมิติหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการเรียนรู้ จะ
ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น  เข้าใจได้รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งสามารถเรียนรู้เนื้อหาที่ครูต้องการสอนได้ในทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เช่น E-learning, Webquest, และ Edmodo เป็นต้น

R: Research Reinforcer - ทักษะการทำวิจัย เป็นทักษะใหม่ที่ครูต้องสามารถทำได้ดีเท่าๆกับเทคนิคการสอน เพราะการทำวิจัยเป็นการค้นหาวิธีการใหม่ๆเพื่อพัฒนาผู้เรียนและการเรียนรู้ให้มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ข้อสำคัญคือการนำผลการวิจัยที่ครูได้ค้นพบ หรือนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ๆมาใช้จริงเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนในชั้นเรียน

O: Outcome-basedจากความเชื่อที่มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาที่ครูจะสอน (Content-based) เป็นมุ่งเน้นผลลัพธ์จากการที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ (Outcome-based)  การจัดกิจกรรมและวิธีการสอน รวมทั้งการประเมินผลการเรียนต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายปลายทางที่เป็นผลลัพธ์ของนักเรียนแต่ละคน 

N: Never Stop Learning:  Lifelong Learner – ครูยุคใหม่ต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะความรู้ และโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูจึงต้องหาองค์ความรู้ใหม่ พัฒนาวิธีการสอนรูปแบบใหม่ๆ และปรับปรุงเทคนิคการสอนอยู่ตลอดเวลาเพื่อนำความรู้ 
เทคนิคใหม่ๆมาสอนให้นักเรียนในชั้นเรียนได้ก้าวตามทันโลก ครูที่ดีจึงควรเป็นนักเรียนผู้ใฝ่หาความรู้ตลอดเวลาด้วย

G:Global Citizenship & Diversity Awareness - การเป็นประชากรโลกและการตระหนักถึงความ
หลากหลาย หมายความว่า ครูต้องมีความสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับนานาชาติ (From local to global)  ให้ผู้เรียนมีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์และวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในชุมชนและรอบโลก อีกทั้งมุ่งสอนให้ผู้เรียนตระหนักถึงความหลากหลายของเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและให้เกียรติกัน เคารพซึ่งความแตกต่าง เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

E: Evaluation: Authentic Assessment - การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง เมื่อครูเปลี่ยนการสอนเพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์และเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การวัดและประเมินผลตามสภาพจริงจึงเป็นเครื่องมือทีใช้วัดความก้าวหน้าได้ดีกว่าการสอบปลายภาคเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างการวัดและประเมินผลการเรียนตามสภาพจริง อาทิเช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การให้ทำงานกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น แฟ้มสะสมงานตลอดทั้งเทอม เป็นต้น

R: Relationship & Collaboration - การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพราะทักษะที่สำคัญสำหรับครูในอนาคตเช่นเดียวกัน การสอนจะค่อยๆเปลี่ยนไปในแบบของการบูรณาการ เช่น การสอนร่วมกัน (Co-teaching) ในวิชาเดียวกันและระหว่างวิชา เช่น ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษสอนร่วมกับครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น รวมทั้งรูปแบบของการวิจัยทางการศึกษาเป็นทีม จะเป็นแนวโน้มใหม่ในการพัฒนาครูทั้งกลุ่มสาระให้ฝึกทำงานร่วมกัน 

ชานุกฤต เธียรกัลยา (ครูโอ๊ต)
เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น