วันนี้ครูโอ๊ตมีเรื่องที่ได้เจอแล้วอยากมาเล่าให้ฟังกัน
องค์กรสมัยนี้ มีนโยบายแปลกๆกันมากมาย เช่น นโยบายห้ามเล่นบีบี ห้ามเล่นMSN chat ห้ามดูยูทูป หรือแม้กระทั่งห้ามหลับในเวลาทำงาน แต่ที่ครูโอ๊ตได้ยินมาไม่มีอะไรน่าสนใจเท่ากับนโยบายนี้: นโยบายห้ามเหวี่ยงใส่กัน (No Bitching Policy)
วงการ HR ต้องตื่นตะลึงกับนโยบายใหม่นี้ เพราะคนสมัยนี้เหวี่ยงใส่กันบ่อยเสียเหลือเกิน ไม่พอใจนิดหน่อยก็เหวี่ยงใส่กัน ซึ่งจริงๆแล้ว หากเรามองย้อนกลับไป บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ว่าเราทำอะไรไปกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน
คำว่า เหวี่ยง นี้ครูโอ๊ตสันนิษฐานว่า มาจากแวดวงดารา นักร้องที่เมื่อเกิดอาการไม่พอใจอะไรขึ้นมาแล้วก็แสดงออก โดยการชักสีหน้า หรือใช้คำพูดที่เหน็บแนมหรือประชดประชันเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ได้ว่าผู้พูดไม่พอใจ นักข่าวผู้น่ารักก็ช่างสรรหาคำแปลกๆใหม่ๆมาใช้กัน เช่น นางเอก พ. พูดเหวี่ยงใส่พระเอก ข. หรือ พระเอก ฟ. (แสดงกริยา)เหวี่ยงใส่นักข่าวเมื่อถามเรื่องราวของความรักที่เพิ่งอกหักมาหมาดๆ เป็นต้น
คำว่า "เหวี่ยง" จึงถูกใช้จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่วัยรุ่น และสุดท้ายก็กลายเป็นคำแสลงคำใหม่ในพจนานุกรมภาษาไทย
ครูโอ๊ตก็ไม่ทราบว่า พฤติกรรม "เหวี่ยง" นี้ได้ถูกแพร่หลายมาสู่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างไร แต่ถ้าให้ครูโอ๊ตสังเกต มันน่าจะเกิดมาจากพฤติกรรม"ต้นแบบ" ของดารา นักร้องที่อยู่ในวงการบันเทิง หรืออาจมาจากละครที่เด็กๆและ ผู้ปกครองนั่งดูอยู่หน้าทีวี เป็นแบบอย่างให้เห็นกันทุกวันหลังข่าวภาคค่ำนั่นเอง โดยที่ผู้ชมซึมซาบพฤติกรรมนี้ไปอย่างไม่รู้ตัว และคิดว่าเป็นสิ่งที่ธรรมดาในการนำมาปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริงได้โดยที่ไม่รู้สึกผิด
เมื่อพฤติกรรมการเหวี่ยงคืบคลานเข้ามาสู่องค์กร การเหวี่ยง จึงกลายเป็นวัฒนธรรมแอบแฝงที่ผู้ทำงานหลายคนคาดไม่ถึงและยากที่จะยอมรับมันว่า พฤติกรรมการเหวี่ยงนี้ส่งผลทางลบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร,วัฒนธรรมหลักที่เคยยึดถือกันมาและสุดท้ายส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีของเพื่อนร่วมงานโดยรวมอีกด้วย
บางกรณี พนักงานใหม่ที่เพิ่งมาทำงานในองค์กรซึ่งปกติเป็นคนเงียบๆเรียบร้อย กลับต้องกลายเป็นคนขี้เหวี่ยงไป เพียงเพื่อต้องการปกป้องตัวเองจากการคุกคามของเพื่อนร่วมงานจอมเหวี่ยง นอกจากนี้ พนักงานบางคนเลือกใช้การเหวี่ยง ในการสร้างเกราะให้กับตนเอง เพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นแจกจ่ายงานมายังตนหรือจะได้ไม่ต้องรับงานเพิ่มหรือความรับผิดชอบให้มากขึ้นเพราะคิดว่าตนเองมีงานมากพออยู่แล้ว
จากพฤติกรรมส่วนบุคคล (Individual Behavior) กลายเป็นวัฒนธรรมย่อย (Sub Culture) และสุดท้ายกลายเป็นวัฒนธรรมหลัก (Core Culture) อย่างไม่รู้ตัว ผู้นำองค์ร รวมทั้งฝ่าย HR จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุม แก้ไขและทำลาย พฤติกรรมเหวี่ยง นี้ไป
บางองค์กร เลือกที่จะตั้งกฎว่า "ห้ามเหวี่ยงใส่กัน" ในขณะทำงาน โดยมีกฎว่าให้ผู้ที่โดนเหวี่ยง รายงานต่อฝ่าย HR โดยตรง และฝ่าย HR จะเรียกบุคคลที่เหวี่ยงมาเตือน เสมือนหนึ่งว่าพนักงานผู้นั้นมาทำงานสายหรือพยายามยักยอกทรัพย์ หากมีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง พนักงานผู้นั้นโดนใบเตือน 3 ครั้ง หากยังไม่หยุดจะถูกพักงาน หรือ ถูกให้เชิญออกในที่สุด
ครูโอ๊ตไม่แน่ใจว่า นโยบายนี้จะได้ผลที่สุด เพราะเท่ากับว่า คุณกำลังส่งเสริมให้พนักงานเป็นศัตรูกันเอง และป้ายร้ายกัน อีกฝ่ายอาจนั่งระแวงว่าใครจะฟ้องใครก่อน ปัญหาจึงไม่น่าจบสิ้น แม้ว่าทางบริษัทมีเจตนาดีที่จะหยุดการเหวี่ยง แต่สุดท้ายฝ่าย HR จะกลายเป็นโรงพัก รับแจ้งความเป็นบันทึกประจำวันกันยุ่งเหยิงไปหมด
ทางออกที่สามารถแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อหยุดพฤติกรรมเหวี่ยงนี้ อาจต้องมาจากการใช้ Sincere Open Communication Approach หรือ การสื่อสารอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา โดยที่คำึนึงถึงคำพูดที่ยังถนอมน้ำใจของแต่ละฝ่าย หลักที่ว่านี้ พูดง่ายๆก็คือ สุนทรียสนทนา ซึ่งก็คือการพูดจาอย่างคนไทยสมัยก่อน ที่มีความเกรงอกเกรงใจ และถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนั่นเอง
หากว่าเรางานยุ่งอยู่แต่มีเพื่อนร่วมงานขอความช่วยเหลือ เราจำเป็นต้องปฏิเสธ ก็ควรบอกฝ่ายที่มาขอความช่วยเหลือว่า เราอยากช่วย แต่ตอนนี้งานของเราเองก็ยุ่งจริงๆ แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง การยื่นมือเข้าไปช่วยในช่วงเวลาที่เราว่างจากการทำงาน ก็แสดงถึงน้ำใจและกระชับมิตรไมตรีจิตอันดีงามให้แก่เพื่อนร่วมงาน
หรือในกรณีที่ พนักงานใหม่ที่เงียบขรึม โดนรุ่นพี่เหวี่ยง ขอให้พนักงานใหม่อดทนรอสักหน่อย อย่าเพิ่งไปเหวี่ยงกลับ ณ เวลานั้น เมื่อรุ่นพี่อารมณ์ดีขึ้นแล้วจึงเข้าไปอธิบายหรือแสดงความรู้สึกที่โดนกระทำตอนถูกเหวี่ยงให้รุ่นพี่คนนั้นรู้ เพราะผมเชื่อว่้าำำพนักงานทุกคนไม่ได้มีนิสัยที่เป็นมิติเดียว หมายความว่า ไม่มีใครจะร้ายได้ตลอดเวลา และการร้ายหรือการเหวี่ยงนั้น อาจเกิดขึ้นโดยที่เจ้าตัวเองไม่รู้ตัว ดังนั้นการรอให้อารมณ์สงบก่อน แล้วจึงค่อยพูดอธิบาย จะเป็นการช่วยคนที่มีพฤติกรรมเหวี่ยงรู้ตัวเอง หรือมองย้อนกลับไปดูตัวเอง เมื่อเค้าเข้าใจ ผมเชื่อว่า เค้าต้องขอบคุณคุณแน่ๆที่ช่วยให้ Feedback กับคนที่ขี้เหวี่ยงคนนั้น
คุณละครับ มีแนวคิด หรือข้อเสนอแนะอย่างไรกับการรับมือหนุ่มขี้เหวี่ยง สาวจอมวีน
ครูโอ๊ตยินดีรับฟังทุกความเห็นครับ
เคยเห็นแต่เพศหญิงผู้มีอายุงานสูงและอาวุโสมากที่กล้าเหวี่ยง เลยสงสัยว่าผู้ชายแท้ๆเค้าเหวี่ยงใส่กันไหมคะครูโอ๊ต
ตอบลบเป็นข้อสังเกตที่ดีมากเลยครับ โดยส่วนตัวแล้วครูโอ๊ตเคยเห็นผู้ชายแท้ๆเหวี่ยงครับ แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่ผู้ชายกลับกลายเป็นว่าเก็บความรู้สึกเก่งกว่าผู้หญิงในเรื่องนี้ อาจมีบ่นบ้างในวงในที่เค้าสนิท แต่จะไม่แสดงออกให้เห็นชัดเจนเท่าผู้หญิงครับ และที่น่าแปลกใจคือ เด๋วนี้ผู้หญิงวัยเพิ่งเริ่มเข้าทำงานก็เริ่มเหวี่ยงกันแล้วครับ ไม่จำเป็นต้องรอให้อาวุโส บางบริษัทจึงรีบตัดไฟแต่ต้นลมก่อน โดยการออกนโยบายนี้ขึ้นมา :)
ตอบลบ