วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นโยบายใหม่ในวงการ HR: ห้ามเหวี่ยงใส่กัน

วันนี้ครูโอ๊ตมีเรื่องที่ได้เจอแล้วอยากมาเล่าให้ฟังกัน

องค์กรสมัยนี้ มีนโยบายแปลกๆกันมากมาย เช่น นโยบายห้ามเล่นบีบี ห้ามเล่นMSN chat ห้ามดูยูทูป หรือแม้กระทั่งห้ามหลับในเวลาทำงาน แต่ที่ครูโอ๊ตได้ยินมาไม่มีอะไรน่าสนใจเท่ากับนโยบายนี้: นโยบายห้ามเหวี่ยงใส่กัน (No Bitching Policy)

วงการ HR ต้องตื่นตะลึงกับนโยบายใหม่นี้ เพราะคนสมัยนี้เหวี่ยงใส่กันบ่อยเสียเหลือเกิน ไม่พอใจนิดหน่อยก็เหวี่ยงใส่กัน ซึ่งจริงๆแล้ว หากเรามองย้อนกลับไป บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ว่าเราทำอะไรไปกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน

คำว่า เหวี่ยง นี้ครูโอ๊ตสันนิษฐานว่า มาจากแวดวงดารา นักร้องที่เมื่อเกิดอาการไม่พอใจอะไรขึ้นมาแล้วก็แสดงออก โดยการชักสีหน้า หรือใช้คำพูดที่เหน็บแนมหรือประชดประชันเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ได้ว่าผู้พูดไม่พอใจ  นักข่าวผู้น่ารักก็ช่างสรรหาคำแปลกๆใหม่ๆมาใช้กัน เช่น นางเอก พ. พูดเหวี่ยงใส่พระเอก ข. หรือ พระเอก ฟ. (แสดงกริยา)เหวี่ยงใส่นักข่าวเมื่อถามเรื่องราวของความรักที่เพิ่งอกหักมาหมาดๆ เป็นต้น

คำว่า "เหวี่ยง" จึงถูกใช้จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่วัยรุ่น และสุดท้ายก็กลายเป็นคำแสลงคำใหม่ในพจนานุกรมภาษาไทย

ครูโอ๊ตก็ไม่ทราบว่า พฤติกรรม "เหวี่ยง" นี้ได้ถูกแพร่หลายมาสู่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างไร แต่ถ้าให้ครูโอ๊ตสังเกต มันน่าจะเกิดมาจากพฤติกรรม"ต้นแบบ" ของดารา นักร้องที่อยู่ในวงการบันเทิง หรืออาจมาจากละครที่เด็กๆและ ผู้ปกครองนั่งดูอยู่หน้าทีวี เป็นแบบอย่างให้เห็นกันทุกวันหลังข่าวภาคค่ำนั่นเอง โดยที่ผู้ชมซึมซาบพฤติกรรมนี้ไปอย่างไม่รู้ตัว และคิดว่าเป็นสิ่งที่ธรรมดาในการนำมาปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริงได้โดยที่ไม่รู้สึกผิด

เมื่อพฤติกรรมการเหวี่ยงคืบคลานเข้ามาสู่องค์กร  การเหวี่ยง จึงกลายเป็นวัฒนธรรมแอบแฝงที่ผู้ทำงานหลายคนคาดไม่ถึงและยากที่จะยอมรับมันว่า พฤติกรรมการเหวี่ยงนี้ส่งผลทางลบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร,วัฒนธรรมหลักที่เคยยึดถือกันมาและสุดท้ายส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีของเพื่อนร่วมงานโดยรวมอีกด้วย

บางกรณี พนักงานใหม่ที่เพิ่งมาทำงานในองค์กรซึ่งปกติเป็นคนเงียบๆเรียบร้อย กลับต้องกลายเป็นคนขี้เหวี่ยงไป เพียงเพื่อต้องการปกป้องตัวเองจากการคุกคามของเพื่อนร่วมงานจอมเหวี่ยง นอกจากนี้ พนักงานบางคนเลือกใช้การเหวี่ยง ในการสร้างเกราะให้กับตนเอง เพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นแจกจ่ายงานมายังตนหรือจะได้ไม่ต้องรับงานเพิ่มหรือความรับผิดชอบให้มากขึ้นเพราะคิดว่าตนเองมีงานมากพออยู่แล้ว

จากพฤติกรรมส่วนบุคคล (Individual Behavior) กลายเป็นวัฒนธรรมย่อย (Sub Culture) และสุดท้ายกลายเป็นวัฒนธรรมหลัก (Core Culture) อย่างไม่รู้ตัว ผู้นำองค์ร รวมทั้งฝ่าย HR จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุม แก้ไขและทำลาย พฤติกรรมเหวี่ยง นี้ไป

บางองค์กร เลือกที่จะตั้งกฎว่า "ห้ามเหวี่ยงใส่กัน" ในขณะทำงาน โดยมีกฎว่าให้ผู้ที่โดนเหวี่ยง รายงานต่อฝ่าย HR โดยตรง และฝ่าย HR จะเรียกบุคคลที่เหวี่ยงมาเตือน เสมือนหนึ่งว่าพนักงานผู้นั้นมาทำงานสายหรือพยายามยักยอกทรัพย์ หากมีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง พนักงานผู้นั้นโดนใบเตือน 3 ครั้ง หากยังไม่หยุดจะถูกพักงาน หรือ ถูกให้เชิญออกในที่สุด

ครูโอ๊ตไม่แน่ใจว่า นโยบายนี้จะได้ผลที่สุด เพราะเท่ากับว่า คุณกำลังส่งเสริมให้พนักงานเป็นศัตรูกันเอง และป้ายร้ายกัน อีกฝ่ายอาจนั่งระแวงว่าใครจะฟ้องใครก่อน ปัญหาจึงไม่น่าจบสิ้น แม้ว่าทางบริษัทมีเจตนาดีที่จะหยุดการเหวี่ยง แต่สุดท้ายฝ่าย HR จะกลายเป็นโรงพัก รับแจ้งความเป็นบันทึกประจำวันกันยุ่งเหยิงไปหมด

ทางออกที่สามารถแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อหยุดพฤติกรรมเหวี่ยงนี้ อาจต้องมาจากการใช้ Sincere Open Communication Approach หรือ การสื่อสารอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา โดยที่คำึนึงถึงคำพูดที่ยังถนอมน้ำใจของแต่ละฝ่าย หลักที่ว่านี้ พูดง่ายๆก็คือ สุนทรียสนทนา ซึ่งก็คือการพูดจาอย่างคนไทยสมัยก่อน ที่มีความเกรงอกเกรงใจ และถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนั่นเอง

หากว่าเรางานยุ่งอยู่แต่มีเพื่อนร่วมงานขอความช่วยเหลือ เราจำเป็นต้องปฏิเสธ ก็ควรบอกฝ่ายที่มาขอความช่วยเหลือว่า เราอยากช่วย แต่ตอนนี้งานของเราเองก็ยุ่งจริงๆ แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง การยื่นมือเข้าไปช่วยในช่วงเวลาที่เราว่างจากการทำงาน ก็แสดงถึงน้ำใจและกระชับมิตรไมตรีจิตอันดีงามให้แก่เพื่อนร่วมงาน

หรือในกรณีที่ พนักงานใหม่ที่เงียบขรึม โดนรุ่นพี่เหวี่ยง ขอให้พนักงานใหม่อดทนรอสักหน่อย  อย่าเพิ่งไปเหวี่ยงกลับ ณ เวลานั้น เมื่อรุ่นพี่อารมณ์ดีขึ้นแล้วจึงเข้าไปอธิบายหรือแสดงความรู้สึกที่โดนกระทำตอนถูกเหวี่ยงให้รุ่นพี่คนนั้นรู้ เพราะผมเชื่อว่้าำำพนักงานทุกคนไม่ได้มีนิสัยที่เป็นมิติเดียว หมายความว่า ไม่มีใครจะร้ายได้ตลอดเวลา และการร้ายหรือการเหวี่ยงนั้น อาจเกิดขึ้นโดยที่เจ้าตัวเองไม่รู้ตัว ดังนั้นการรอให้อารมณ์สงบก่อน แล้วจึงค่อยพูดอธิบาย จะเป็นการช่วยคนที่มีพฤติกรรมเหวี่ยงรู้ตัวเอง หรือมองย้อนกลับไปดูตัวเอง เมื่อเค้าเข้าใจ ผมเชื่อว่า เค้าต้องขอบคุณคุณแน่ๆที่ช่วยให้ Feedback กับคนที่ขี้เหวี่ยงคนนั้น

คุณละครับ มีแนวคิด หรือข้อเสนอแนะอย่างไรกับการรับมือหนุ่มขี้เหวี่ยง สาวจอมวีน

ครูโอ๊ตยินดีรับฟังทุกความเห็นครับ



วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Positive Thinking: New Drive for Success การคิดบวก: พลังขับเคลื่อนใหม่สู่ความสำเร็จ

ยินดีต้อนรับสู่บล็อคครูโอ๊ต ชานุกฤต เธียรกัลยา นะครับ

วันนี้เราจะมาพูดถึง พลังแห่งการคิดบวกกัน ว่ามันน่าสนใจและมีความสำคัญกับชีวิตของคนเราอย่างไร

โดยธรรมชาติของครูโอ๊ตแล้ว โชคดีที่เป็นคนคิดบวกมาตั้งแต่เด็ก ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นไปอย่างไรเหมือนกันครับเพราะสมัยนั้น คำเก๋ๆอย่าง คิดเชิงบวก คิดเชิงสร้างสรรค์ หรือทัศนคติบวก ยังไม่ปรากฎแพร่หลายเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้ ครูโอ๊ตรู้แต่ว่าเราแค่พยายามให้กำลังใจตัวเอง หากเจอปัญหาและอุปสรรค และพยายามมองสิ่งๆเดียวกันกับที่คนอื่นมองและกำลังบ่นอยู่ในในมุมมองใหม่ๆ ในมุมมองที่ดี ในมุมมองเชิงบวก

 ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ตอนที่ครูโอ๊ตเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตัวเองเรียนสายวิทย์ (ห้องควีนด้วยนะ) เพราะถูกปลูกฝังมาว่า เรียนสายวิทย์แล้วจะเลือกคณะได้มากว่าสายศิลป์ ทั้งๆที่ตัวเองไม่ชอบฟิสิกส์ ชีววิทยาเลย แต่ชอบวิชาภาษาอังกฤษมาก เล่าย่อๆว่าเหลือเวลาอีกแค่ 3 เดือนก่อนสอบเอ็นทร้าน (ในสมัยนั้น...โอ้ย ยิ่งเล่ายิ่งรู้ว่าแก่) เรารู้ตัวแล้วว่าถ้าจะไปสอบสู้กับคนอื่นๆที่เก่งสายวิทย์ต้องไม่ได้แน่เลย เลยพยายามมองมุมใหม่ และหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอและพบว่าเป็นคนที่ชอบภาษาอังกฤษมากกว่าวิชาฟิสิกส์ เลยตัดสินใจเงียบๆเปลี่ยนไปสอบสายศิลป์คำนวณแทน ทั้งๆที่ยังต้องเรียนสายวิทย์ควบคู่ไปได้ ครูเลยตัดสินใจลงเรียนพิเศษอย่างบ้าระห่ำและอ่านหนังสือเองจนกระทั้งสอบติดเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ (ครูเลือกไว้อันดับหนึ่ง)

สิ่งที่ครูโอ๊ตกำลังจะบอกก็คือ ในระหว่างที่เตรียมตัวสอบซึ่งเวลาก็เหลือน้อยมาก บางครั้งครูเองก็รู้สึกหวั่นใจและเป็นกังวลกับการตัดสินใจ แต่ครูได้ความคิดบวกที่ซ่อนอยู่ใต้จิตสำนึกที่คอยพร่ำบอกกับตัวเองว่า "เราต้องทำได้ เราต้องทำได้" อย่างงี้ตลอดเวลา อีกทั้งการให้กำลังใจตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยากและท้าทาย ทั้งการคิดบวกและให้กำลังใจตัวเองจะทำให้คุณก้าวผ่านสิ่งที่คิดว่าเ็ป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์

เรายังสามารถนำเรื่องของการคิดบวก มาประยุกต์ใช้กับการทำงานเช่นกันครับ

เมื่ออาทิตย์ก่อน ในที่ประชุมบริษัททุกวันจันทร์ เจ้านายบอกกับที่ประชุมว่า พวกคุณกำลังทำอะไรกันอยู่ มีกันอยู่ตั้ง 20 คนในห้องแต่ไม่สามารถทำงานที่เด็กอายุเพียงแค่ 18 ทำได้เพียงคนเดียว และทำได้ดีด้วยในการโปรโมตตัวเองบนยูทูป (เจ้านายกำลังพูดถึงเด็กที่ชื่อ พุด ที่ร้องเพลงได้ปวดตับมากๆ เสียงก็ไม่ได้เรื่อง ร้องเสียงหลงอย่างชนิดว่า ฟังแทบไม่รู้เลยว่าเพลงออริจินอลเค้าร้องยังงัย) เจ้านายพูดต่อว่า สิ่งที่พวกคุณกำลังทำมา 2-3 เดือนนี้มันไม่ได้ผล และอยากให้คุณเปลี่ยนความคิดใหม่เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง จากนั้นในห้องกลายเป้นป่าช้าเงียบสงัด  ครูสังเกตุว่าทุกคนในที่ประชุมรู้สึกเครียดกับคำพูดของเจ้านาย เพื่อนๆในทีมคงพยายามจะบอกว่า พวกเค้าทำดีที่สุดแล้ว และทำงานกันหนักมาก พวกเค้าพูดไม่ออก แต่ครูโอ๊ตจับความรู้สึกได้ว่าทุกคนกำลังท้อและหมดกำลังใจและกำลังคิดว่าทำไมเจ้านายต้องว่าด้วยในเมื่อทุกคนทำตามที่เจ้านายสั่ง

ในที่ประชุม ขณะนั้น ทุกคนหลบสายตาเจ้านาย รวมตัวกันมองต่ำกันหมด ก้มหน้าก้มตา มองที่บีบี หรือ Laptop  ยกเว้นครูโอ๊ต 5555 นั่งเชิดหน้า มองตาเจ้านายและยิ้มเล็กๆเพื่อแสดงให้เห็นว่า เห็นด้วยกับที่เจ้านายพูด ครูไม่ไุด้ทำเพราะต้องการประจบ แต่ครูทำเพราะครูมองในเชิงบวก และเปิดรับกับคำพูดที่ฟังดูมีเหตุและมีผลต่างหาก ครูมีความรู้สึกว่าที่เจ้านายพูดเพราะเค้ารู้สึกอยากให้เราคิดนอกกรอบ ลองวิธีใหม่ๆจริงๆ ที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์มหาศาล และครูเชื่อว่าถ้าทุกคนหายเศร้าจากการถูกดุแล้ว ก็คงคิดได้เช่นเดียวกันว่า เจ้านายท่านบอกให้เรามองต่างมุม ให้เราหยุดกับวิธีการเดิมๆมี่ไม่ได้ผล แล้วลองมองหาสิ่งใหม่ที่จะทำให้ product ตัวนี้ประสบความสำเร็จ โดยที่ไม่ต้องทำงานหนักกับวิธีการเดิมๆ

บางคนบอกว่า ก็ครูโอ๊ตไม่ได้โดนด่าตรงๆนี่หน่า ครูก็เลยมองบวกได้สิครับ งั้นครูขอยกตัวอย่างในกรณีของครูเองโดยตรงละกัน คือว่า หลังจากประชุมเสร็จ 2-3 วันต่อมา ครูได้รับโทรศัพท์จากฝ่ายบุคคลบอกว่า จะขอตัดงบในส่วนที่เป็นค่าจ้างครูโอ๊ต แน๊ะ เห็นไหม๊ว่าโดนตัดเงินเต็มๆ 5555 แต่ครูกลับมองว่า ไม่เป็นไร เพราะว่าตอนนี้ถ้าเราช่วยบริษัทประหยัดงบได้ ก็ช่วยๆไป เ แล้วเราคิดค่าจ้างของเราเป็นโปรเจ็คดีกว่า จะได้สบายใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งครูมองว่าก็ยุติธรรมดี win-win  ถ้าเรามองลบแล้วก็น้อยใจหรือไปโวยวาย ครูรับรองว่าผลลัพธ์อาจจะ lose-lose ก็ได้ ตราบใดที่ครูและบริษัทให้เกียรติซึ่งกันและกัน และไม่เอาเปรียบกัน เราก็ทำงานได้อย่างสุขใจ สบายใจ

จาก 3  ตัวอย่างนี้ ครูโอ๊ตอยากจะสรุปง่ายๆว่า การคิดเชิงบวก สามารถทำให้มุมมองของเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเป็นวิธีการที่ทำให้คนเรามองต่างจากมุมมองเดิม และควรจะเป็นการมองในแง่ดีที่ทำให้เรารู้สึกว่าดี เพราะหากเราคิดบวก มองบวก สุดท้ายแล้วตัวเราเองที่มีความสุขและมีพลังในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่เราต้องเผชิญ

บล็อคหน้า ครูโอ๊ตจะบอกเคล็ดลับวิธีการฝึกมองเชิงบวกให้ผู้สนใจอ่านกันนะครับ รับรองว่าทุกคนทำได้แน่นอนครับ

 Never Stop Learning~
ครูโอ๊ต
ชานุกฤต เธียรกัลยา







.