วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สิ่งที่นิสิตนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ต้องเตรียมพร้อมเพื่อการเป็นครูที่ดีในอนาคต


การสร้างสมรรถนะความเป็นครูของนิสิต นักศึกษาในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกไปเป็นครูฝึกสอน (Pre-service teacher competencies) ให้แข็งแกร่งนั้น นักศึกษาควรเตรียมพร้อมตัวเองให้มีความเป็นเลิศทั้ง 7Cs ได้แก่;

1. Content เนื้อหาที่เรียน- นักศึกษาควรมีความรู้ (Knowledge) ในเรื่องที่จะสอนได้เป็นอย่างดี และต้องรู้ในระดับที่เข้าใจ สามารถยกตัวอย่างประกอบได้ถูกต้อง เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ สามารถแยกแยะระดับความยากง่ายของแต่ละเนื้อหา รวมทั้งเข้าใจแนวคิด ทฤษฏี ความคิดรวบยอด กรอบการศึกษาและสามารถนำผลการวิจัยในประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้

2. Curriculum Design นอกจากนักศึกษาต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องความรู้แล้ว การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนให้เหมาะสม เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ นักศึกษาควรคุ้นเคยกับการจัดกิจกรรมการ เรียนรู้ที่มีเวลาจำกัดแค่ 50 นาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน นักศึกษาต้องเรียงลำดับการสอน อย่างมีระเบียบและเป็นขั้นตอน การเตรียม lesson plan หรือแผนการสอนทั้งในรายวิชา รายชั่วโมงโดยแบ่งส่วนเนื้อหาได้เหมาะสมตลอดทั้งเทอม และสามารถจัดกิจกรรม ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered) ได้อย่างสร้างสรรค์ 

3. Creativity ความคิดสร้างสรรค์- นักศึกษาบางครั้งยังติดกับกรอบรูปแบบหรือ กระบวน การสอนแบบเดิมๆที่คุ้นเคย ทำให้เทคนิคการสอนขาดความน่าสนใจ ส่งผลให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาที่นักศึกษาต้องออกฝึกสอน ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ทั้งในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้สื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ตลอดจนการถ่ายทอด ออกมาอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นทักษะที่นิสิตนักศึกษาควรเตรียมพร้อมก่อนออกฝึกสอนจริง


4. Communication ทักษะการสื่อสาร - สิ่งหนึ่งที่นักศึกษาขาดคือ ทักษะการถ่ายทอดเนื้อหาหรือการสอนให้นักเรียนเข้าใจโดยเฉพาะเอกภาษาอังกฤษ ที่นักศึกษาต้องมีทักษะการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษตลอดทั้งชั่วโมงสอน นักศึกษาควรต้องฝึกฝนอย่างมากในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษให้นักเรียนเข้าใจ รู้จักการตั้งคำถาม การให้แรงเสริม การแก้จุดบกพร่องหรือจุดผิดของนักเรียนรวมทั้ง การอธิบายเนื้อหาที่สอนเป็น ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ที่คณะศึกษาศาสตร์ รามคำแหงเอกภาษาอังกฤษนั้น ยังมีการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลักอยู่ แต่เมื่อถึงวิชาพฤติกรรมการสอน 1 นักศึกษาต้องออกมาฝึกสอนหน้าชั้นเป้นภาษาอังกฤษทั้งหมด นักศึกษาส่วนให่ไม่คุ้นเคยและยังไม่มีทักษะการสื่อสารทางภาษาที่ดีเพียงพอ จึงทำให้นักศึกษาหลายๆท่านไม่ผ่านวิชานี้ จึงขอเสนอให้เปิดอีกหนึ่งวิชาสำหรับคณะศึกษาศาสตร์ คือ วิชาการใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียน (English Classroom Language) เพื่อเตรียมความพร้อม ให้นักศึกษาทุกคนทั้งเอกภาษาอังกฤาและเอกอื่นๆได้ฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียนได้อย่างมั่นใจและถูกต้อง รองรับ AEC ที่มีความควาดหวังว่า ครูไทยทุกท่านไม่ว่าจะสอนวิชาใดก็ตาม ต้องสามารถสื่อสารและถ่ายทอดเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษได้ดี เพราะต่อไปในอนาคต ในชั้นเรียนของครูทุกท่าน อาจมีนักเรียนจากชาติอื่นๆในประเทศสมาชิกเข้ามานั่งเรียนด้วย นั่นหมายความว่า ภาษาอังกฤษจะต้องเป็นภาษาสื่อกลางและใช้ในชั้นเรียน

5. Confidence ความมั่นใจ-  การยืนสอนหน้าชั้น ที่มีนักเรียนจำนวน 40-50 คน จ้องมองเรา อาจทำให้นิสิตนักศึกษามือใหม่เกิดอาการประหม่า ขาดความมั่นใจ และวิตกกังวลได้ แต่หากนักศึกษาหมั่นฝึกซ้อมสอนหน้าห้องเป็นประจำ พร้อมทั้งนำคำแนะนำของเพื่อนและอ่านอาจารย์ ไปปรับปรุงและพัฒนา ความมั่นใจจะเกิดขึ้นได้และนิสิตนักศึกษาจะมีความพร้อมในการยืนสอนหน้าชั้นจริง

6. Computer ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในการช่วยสอน  ในศตวรรษที่ 21 เด็กเติบโตมากับเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ ดังนั้นนิสิตนักศึกษาจึงต้องมีความรู้พื้นฐานการใช้โปรแกรมเพื่อการสอน เช่น Word, Excel, Powerpoint ได้เป็นอย่างดีและสามารถใช้สื่อออนไลน์ประกอบการสอนได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเรียน

7. Classroom Management ทักษะการบริหารห้องเรียน การจัดการชั้นเรียนเป็นสิ่งที่นิสิตนักศึกษาต้องเตรียมพร้อมและทำความคุ้นเคย รวมทั้งฝึกปฏิบัติการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในชั้นหรือระหว่างการสอน ทฤษฏีเป็นเพียงแนวทางในการชี้นำ แต่นิสิตนักศึกษาทุกท่านต้องลองปฏิบัติในหลายๆสถานการณ์ เช่น การควบคุมชั้นในกรณีนักเรียนไม่มีวินัยและไม่มีความเป้นระเบียบ การกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนเมื่อผู้เรียนรู้สึกเบื่อหรือง่วงนอน รวมทั้งการลงโทษและการให้แรงเสริมทางลบ เพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนบางคนลง

การเขียนบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา CTL3003 ของอ.บงกช แต่ครูโอ๊ตเห็นว่าอาจมีประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะออกไปเป็นครู จึงขอนำมาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศมีครูที่มีศักยภาพและคุณภาพมากขึ้น

บทความนี้ไม่มีเจตนากล่าวให้ร้ายหรือมีวัตถุประสงค์ในทางไม่ดีต่อสถานบันใดๆทั้งสิ้นผู้เขียนเขียนจากประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างสร้างสรรค์

ด้วยความเคารพอย่างสูง
ชานุกฤต เธียรกัลยา
1 ตุลาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น