วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บทเรียนจากประสบการณ์การออกฝึกสอน โดย ครูโอ๊ต ชานุกฤต เธียรกัลยา

บทเรียนที่ได้จากประสบการณ์การออกฝึกสอน โดย ครูโอ๊ต ชานุกฤต เธียรกัลยา

ภาพความทรงจำที่ดีกับม. 6/2 เบลอ มึน ซ่า แต่น่ารัก

๑.  ไม่มีนักเรียนคนไหนไม่ฉลาด มีแต่นักเรียนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ครูจึงต้องอย่าทิ้งนักเรียนที่ไม่เข้าใจ พยายามอธิบายช้าๆ เป็นขั้นตอน ให้กำลังใจและตอบข้อสงสัยของเขาได้

๒. ก่อนจะเข้าห้องเรียน ความรู้และเนื้อหาในสิ่งที่จะสอนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีครูคนไหนในโลกนี้รู้ทุกอย่าง แต่ครูสามารถเตรียมบทเรียน ทำความเข้าใจเนื้อหาและคิดวิธีการสอนได้ก่อนเสมอ และอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง

๓.  อย่าคาดหวังว่านักเรียนจะเข้าใจบทเรียนทุกคน บางคนเข้าใจเร็ว บางคนต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ แต่น่าเสียดาย บางคนพอไม่เข้าใจก็เลยไม่พยายาม ครูมักจะบอกให้ลองกลับไปอ่านหลายๆรอบ ลองทำแบบฝึกหัด มันจะดีขึ้นเอง

๔. งานที่ให้เด็กทำ ต้องช่วยให้เด็กเกิดทักษะทางภาษาที่ดีขึ้นทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน หรือรวมหลายทักษะรวมกัน อย่าสั่งให้เด็กวาดรูป ระบายสี ไปก๊อปปี้มาโดยไม่มีจุดหมายของของงานอย่างชัดเจน งานที่ครูสั่งต้องเป็นงานที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กเอง

๕. เวลาสอน สอนจากง่ายไปยาก ท้าทายความคิดเขา ค่อยๆเพิ่มระดับความยาก อย่าสอนจากยากไปเลย เด็กจะตามไม่ทัน และอย่ากลัวเสียเวลากับการทวนสิ่งง่ายๆที่บางครั้งเด็กๆอาจยังไม่รู้

๖. ครูพยายามจัดกิจกรรมในห้องเรียนให้น่าสนใจ ส่งเสริมทักษะและให้เกิดความสนุกสนานไปพร้อมๆกัน เด็กจะได้เรียนรู้ควบคู่และรักภาษาอังกฤษทีละนิด

๗. เด็กหลังห้อง คือ เด็กหน้าห้องของครู ยิ่งเขาอยู่ไกลจากเรา เราต้องยิ่งใส่ใจเขามากขึ้น เป็นกันเอง ให้ความเมตตา แล้วเขาจะมีสมาธิอยู่กับเรามากขึ้น

๘. เปิดใจรับฟังความเห็นของเด็กนักเรียน ครูไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป และนักเรียนสามารถทำให้เราเรียนรู้มุมมองต่างๆที่อาจไม่เคยคิดมาก่อน ผมมักจะชอบเวลาเด็กถามหรือทักท้วง เพราะเป็นสัญญาณที่ดีว่าเขาได้เริ่มคิดด้วยตัวเขาเอง

๙. การออกข้อสอบ จำไว้เสมอว่า “ให้ออกสิ่งที่สอน สอนอะไรออกสิ่งนั้น” หรือ “content validity (ความเที่ยงตรงของเนื้อหา)ครูต้องสามารถสร้างข้อสอบที่มีคุณภาพเองได้ และข้อสอบนั้นควรวัดความเข้าใจของเนื้อหาที่เรียน เราอาจจะประยุกต์จากข้อสอบอื่นๆ หรืออาจดูเป็นแนวทาง แต่ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนที่เราจะวัดผล ไม่มีประโยชน์เลยถ้าครูสอนในห้องอย่าง แล้วออกข้อสอบอีกอย่าง เด็กจะหมดกำลังใจและไม่เห็นคุณค่าของความพยายาม

๑๐.  ทุกๆ ๕๐ นาทีในห้องเรียนมีความหมายเสมอ แม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่มีเวลาสอนเต็มๆ เพราะเด็กต้องเดินเปลี่ยนห้อง แต่ครูต้องใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนมากที่สุด ออกแบบแผนการสอนดีๆเพื่อให้คุ้มค่ากับการได้เจอนักเรียนที่น่ารักทุกคาบ

เป็นกำลังใจให้นิสิต นักศึกษาออกฝึกสอนรุ่นน้องๆนะครับ
ครูโอ๊ต
รวมพลช่วงติวก่อนสอบ มากันเยอะขนาดนี้ ครูสอนสุดฝีมือ 
ลูกๆม. 6/5 ขยันตอบ ชอบถาม มารยาทงาม ตามงานทัน
ช่วงประสบการณ์ที่ดีในการออกฝึกสอน และเป็นครูที่ดีของนักเรียนรร. ปากเกร็ด
ลูกๆ ม. 6/8 แสบทรวง ต่อรอง ร้องขอ รองาน แต่พยายามนะ จุ๊ฟๆ
เด็กๆม. 6/1 ห้องเก่ง เพ็งกระดาน งานครบ จบเกรดสวย 5555