วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

Personal Brand Elements องค์ประกอบของแบรนด์ส่วนบุคคล โดย ครูโอ๊ต ชานุกฤต เธียรกัลยา

องค์ประกอบของแบรนด์ส่วนบุคคล (Personal Brand Elements) โดย ครูโอ๊ต ชานุกฤต เธียรกัลยา


สวัสดีนักศึกษาสำหรับเช้าวันจันทร์ต้อนรับเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรักนะครับ

การเรียนการสอนในวันนี้ จะมุ่งเน้นให้นักศึกษาใช้การเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom (ห้องเรียนกลับด้าน) โดยให้นักศึกษา อ่านเนื้อหาที่ครูโอ๊ตกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ด้วยตนเอง แล้วนำมาอภิปราย สอบถามข้อสงสัยรวมทั้งแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องขององค์ประกอบของแบรนด์ส่วนบุคคลในชั้นเรียนครับ

เกริ่นกันมายาว ขอเริ่มการอธิบาย องค์ประกอบของแบรนด์ส่วนบุคคล (Personal Brand Elements) กันเลยครับ

1. Brand Story เรื่องราวของเรา

ตอนเด็กๆ การฟังนิทานหรือเรื่องสนุกๆสักเรื่อง ถือเป็นสิ่งที่เด็กๆทุกคนตั้งตาคอย อยากให้คุณพ่อคุณแม่ คุณครูเล่าให้ฟังบ่อยๆ เพราะเด็กรู้สึกตื่นเต้นไปกับเรื่องนั้น กับตัวละครเจ้าหญิงเจ้าชาย หรือแม้กระทั่งตัวร้ายที่มักจะทำให้เด็กๆหวาดกลัวและร้องไห้ไปทุกคราว การเล่าเรื่องราวของแบรนด์ส่วนบุคคล ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะคนทั่วไปเจอะเจอคนมากมายในหนึ่งวัน พวกเขาไม่มีเวลาจำชื่อคุณได้ทั้งหมด แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาจะจดจำเรื่องราวของคุณได้ นั่นคือนิมิตหมายที่ดี เพราะคุณกำลังสร้างเรื่องราวที่ไปฝังลึกอยู่ในจิตใจและความทรงจำของผู้อื่นและนั่นหมายความว่า คุณกำลังสร้างแบรนด์ส่วนบุคคลในใจของผู้อื่นนั่นเอง

ครูโอ๊ตขอยกตัวอย่าง Brand Story ที่เราส่วนใหญ่รู้จักและยังจำได้ เช่น เรื่องราวของต๊อบ เถ้าแก่น้อย ที่สร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน ตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งๆที่เมื่อก่อนติดเกมส์จนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ แต่ด้วยความมานะบากบั่น บวกกับพลังลูกบ้า คิดทำธุรกิจ ล้มแล้วลุกจนสามารถยืนหยัดได้ด้วยสินค้าสาหร่ายทอดกรอบ จนถึงทุกวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่มีใครไม่รู้จัก เถ้าแก่น้อย คุณต๊อบ  .....อีกเรื่องที่เรียกได้ว่าน่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องคลาสสิคเรื่องหนึ่งของวงการธุรกิจก็คือ ชีวิตของคุณตัน ภาสกรนที (หรือรู้จักกันในนาม คุณตัน อิชิตัน) จากลูกคนจีนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ไทย เรียนจบแค่ ป.3 แต่มีหัวธุรกิจ ทำแผงหนังสือและขยายกิจการต่อยอดเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ เครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ จนกระทั่งขายหุ้นโออิชิทั้งหมดแล้วมาเปิดบริษัท ไม่ตัน จำกัด จำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียว อิชิตัน ประสบผลสำเร็จอย่างมากมีชื่อเสียง เนื่องจากแบรนด์ส่วนบุคคลที่แข็งแรงมากๆของคุณตัน นั่นเอง

จากตัวอย่างของแบรนด์ส่วนบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั้งสองท่าน เราจะเห็นได้ว่า สิ่งหนึ่งที่ Brand Story มีคล้ายๆกัน คือ ความรู้สึกประทับใจและความรู้สึกทึ่งและชื่นชมในความพยายามของบุคคลทั้งสองที่ไม่ยอมแพ้กับโชตชะตา แม้ว่าจะเจอเหตุการณ์ที่ยากลำบากหรือจุดหักเหของชีวิต ผู้ที่ได้ฟังเกิดความรู้สึกว่า ทั้งสองท่านนี้เป็นไอดอลในการสอนอะไรบางอย่างให้กับผู้ฟัง แล้วทำให้เขาจดจำได้จากเรื่องราว

ทำไมต้องใช้ Story เข้ามาสร้างแบรนด์? คำตอบคือ การเล่าเป็นเรื่องราวจะทำให้คนจดจำตัวเราได้มากขึ้น เพราะในแต่ละเรื่องราวที่ดี จะมีจุดที่ไปกระทบอารมณ์ของผู้ฟัง และสร้างจุดร่วมในใจพวกเขา นอกจากนี้ ธรรมชาติของมนุษย์เป็นผู้ชอบฟังเรื่องราว มากกว่า การบรรยายสรรพคุณของคนเองให้ผู้อื่นฟัง  ยิ่งเรื่องราวของคุณน่าสนใจมากแค่ไหน โอกาสที่ผู้ฟังจะจดจำคุณได้ ยิ่งมีมากขึ้น

หลักการในการสร้างพลังเรื่องราวของตัวเองให้น่าสนใจ คือ


  1. เปิดเรื่องมาน่าสนใจ (Catchie Opening) การเปิดเรื่องตอนต้นเป็นส่วนที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ฟังตัดสินว่า คุณมีแบรนด์ส่วนบุคคลที่น่าสนใจแค่ไหน ภายใน 15 วินาทีแรกของการเล่าเรื่อง คุณต้องเลือกหาช่วงชีวิตในอดีตที่น่าสนใจเป็นจุดเริ่มเปิดประโยค เช่น ผม/ดิฉัน เกิดมาในครอบครัวที่เรียกได้ว่า....(มีพร้อมไปทุกสิ่ง/กองเงินกองทอง/ยากจนจนแทบไม่มีอะไรทาน เป็นต้น) สิ่งที่ไม่ควรกล่าวอย่างยิ่งคือ การแนะนำตัวเหมือนเด็ก ป. 6 (สวัสดีครับ ผมชื่อ..... นามสกุล.....อายุ......เกิดที่จังหวัด......) อาจขึ้นต้นด้วยคำถาม คำคม หรือ รูปภาพในช่วงที่แสดงถึงความเป็นตัวเรามากที่สุดก็ได้
  2. จุดหักเหของชีวิต (Turning Point) เป็นช่วงหรือจังหวะชีวิต ที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เหตุการณ์พลิกผัน หรือ เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คุณต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจ เช่น เกิดการหย่าร้าง ธุรกิจยอดขายตกต่ำ สูญเสียคนรัก ถูกตำรวจจับได้ ล้มละลาย ถูกโกงไม่รู้ตัว เป็นต้น จุดหักเหนี้ อาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งในชีวิต ขอให้เลือกมาเพียง 2-3 เหตุการ์ณที่สำคัญๆเท่านั้น
  3. การตัดสินใจ (Decision Making) ผู้ฟัง กำลังลุ้นอยู่เลยครับ ว่าคุณจะตัดสินใจทำอย่างไรต่อไปเมื่อเจอกับจุดหักเหในชีวิต คุณมีโอกาสเลือกที่จะเดินต่อไปข้างหน้า หรือยอมแพ้กับชะตาชีวิต ช่วงนี้ Brand Story จะสื่อสารถึงทัศนคติและความคิดของคุณว่าคุณเป็นคนอย่างไร หนีปัญหา หรือแก้ปัญหา มุ่งมั่นหรือล้มเลิก ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความจริง และการเลือกใช้คำที่มีพลังของคุณ บอกถึงการตัดสินใจว่ คือมีทางเลือกไหนบ้าง แล้วคุณเลือกทางเดินไหน เพราะอะไร แล้วผลของ การเลือหรือตัดสินใจนั้น คุณคิดว่าคุ้มหรือไม่
  4. สถานการณ์ในปัจจุบันและความมุ่งมั่นในอนาคต (Presence and Future) ในตอนสุดท้ายของ Brand Story เป็นการพูดถึงความสำเร็จ หรือสถานะในปัจจุบัน ว่า ณ ตอนนี้ คุณเป็นอย่างไรบ้าง ประสบความสำเร็จในระดับไหน พอใจแล้วหรือยัง  และในอนาคตมองภาพของตัวคุณเองไว้ว่าอย่างไร ในช่วงนี้ เป็นการสื่อสารถึง Brand Vision ว่าคุณมีเป้าหมายอย่างไรนั่นเอง

สิ่งที่ครูโอ๊ตขอย้ำเตือนคือ เรื่องราวของเรานั้น ต้องเป็นความจริง อย่าเสริมเติมแต่งให้ดูน่าทึ่ง น่าสงสารเพราะคุณไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้ และการปั้นเรื่องขึ้นมา ยังไงก็ต้องมีคนรู้อยู่แน่นอนว่าความจริงเป็นอย่างไร ถ้าไม่อยากโดนแฉ ก็จงเลือกพูดแต่ความจริง และเลือกพูดในสิ่งที่เราสามารถพูดได้ คุณไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องที่คุณไม่สบายใจที่จะให้คนอื่นรู้ เพราะคุณเป็นคนกำหนดเอง แต่!!!! เมื่อไรก็ตามที่คุณกล้าที่จะยอมรับความจริง ในสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต ครูโอ๊ตเชื่อว่า จะมีผู้ฟังจำนวนไม่น้อยเลยที่ชื่นชมในความกล้าหาญและความตรงไปตรงมาของคุณ

สุดท้ายนี้ ครูโอ๊ตขอฝากว่า การสร้าง Brand Story นอกจากจะทำให้คนจดจำคุณได้จากเรื่องราวอันทรงพลังแล้ว ตัวคุณเองยังได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จากการมองย้อนกลับไปดูมาอดีตที่ผ่านมา คุณเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงครับ

แล้วพบกันในห้องเรียนพร้อมทำกิจกรรม การสร้าง Brand Story  ของตัวเองครับ

ครูโอ๊ต
ชานุกฤต เธียรกัลยา
2 กุมภาพันธ์ 2558